เป็นนักดนตรีไม่มีอนาคตจริงหรอ?
- Wankwan Polachan
- Aug 20, 2020
- 1 min read

‘คุณทำอาชีพอะไรหรอ?’ ประโยคคำถามเรียบง่าย แต่กลายเป็นปราการด่านแรกๆที่สังคมใช้ตัดสินชีวิตของคนที่เขาไม่ได้รู้จักเลยแม้แต่น้อย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมใช้มุมมองอย่างผิวเผินที่มีต่อ ‘อาชีพ’ นั้นๆ ในการแบ่งชนชั้นราวกับชะตาชีวิตของคนคนหนึ่งถูกกำหนดไว้ด้วยคำคำเดียว การเลือกอาชีพสำหรับหลายคนจึงไม่ได้เป็นเพียงการเลือกงานที่เขาตั้งใจจะทำไปตลอดชีวิต แต่กลายเป็นการเลือกด้วยว่าเขาจะเป็นคนที่มีอนาคตและมีคุณค่าแค่ไหนในสายตาของคนรอบข้าง
‘นักดนตรี’ คืออีกหนึ่งอาชีพในสังคมไทยที่คนหลายกลุ่มยังมองว่า ‘ไม่มีอนาคต’ และ “หลุย-ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ” ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางสังคมที่มองว่าการเป็นนักดนตรีไม่ได้มั่นคง ไม่ได้มีเกียรติเท่าอาชีพอื่นๆ แต่ตัวเขาเองไม่ได้เชื่ออย่างนั้น ในทางตรงกันข้าม เขากลับมีอุดมการณ์และเห็นอนาคตที่ชัดเจนในอาชีพที่เขารัก พร้อมหันมาตั้งคำถามกับสังคมว่า “ทำไมต้องเอาอาชีพไปผูกกับเรื่องเงิน ทำไมไม่มีใครพูดถึงคุณค่าของตัวงานที่เราทำจริงๆ”
วันนี้ Chonle อยากจะขอชวนทุกคนมาเปิดมุมมองต่ออาชีพนักดนตรีในฐานะอาชีพหนึ่งที่มีอนาคตและมีเกียรติไม่แพ้อาชีพอื่นๆ ผ่านบทสัมภาษณ์ของหลุยกัน
หลุยเล่นดนตรีมาตั้งแต่เมื่อไหร่? สวัสดีครับ ชื่อหลุย ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ เป็นศิลปินและนักแต่งเพลง เรียนดนตรีเครื่องดนตรีทรอมโบน ตอนนี้กำลังเรียนปริญญาเอก ปีนี้เป็นปีที่ 4 ผมเรียนด้านการแต่งเพลงและสุนทรียศาสตร์ทางเสียงและศิลปะดิจิตัล (Compostion, Sound Art and Digital Art)
ผมเขียนเพลงเป็นอาชีพด้วย ก็จะมีวงดนตรีอย่างเช่น วง Royal Philharmonic Orchestra ประเทศอังกฤษ หรือวง Thailand Philharmonic Orchestra มาว่าจ้างให้เราเขียนเพลงให้ เราก็เขียนเพลงตามกำหนด เขาก็จะมีกำหนดการแสดง กำหนดการฉาย
รู้สึกยังไงเวลาคนพูดว่า ‘นักดนตรีไม่มีอนาคต?’
เราต้องไขกุญแจให้ออกว่า คำว่า "มีอนาคต" มันเอาไปผูกกับ เรื่องของเงิน เรื่องของความสำเร็จ หรือความปรารถนาส่วนตัว ค่านิยมของคนไทย คำว่าอนาคตก็คือเกี่ยวกับเรื่องเงิน เรื่องการค้า ผมสังเกตทุกๆครั้งก็คือ เวลามีสัมภาษณ์ของใครก็ตาม ทุกคนก็จะต้องพูดเรื่องเงิน เรื่องการหาเลี้ยงพ่อแม่ อย่างแต่ก่อนพ่อแม่ของเพื่อนๆผมก็จะพูดว่า “ทำไมเลือกเรียนดนตรี ทำไมไม่เล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก แล้วทำธุรกิจอย่างอื่นเพื่อให้ได้เงินมากกว่า” เหมือนมันเป็นบทค่อนข้าง cliche ทำไมจะต้องพูดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา ทำไมไม่มีใครพูดถึงคุณค่าของตัวงานที่เราทำจริงๆ
สำหรับตัวผมเอง ตอนเด็กๆผมก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะอะไร เราก็เคยคิดว่าเราอยากทำงานเพลงที่มันได้เงินเยอะๆนะ แต่สุดท้ายแล้วมันไม่มีความสุข เราต้องทำเพลงที่เราไม่ได้ชอบ แต่เราทำเพื่อเงิน จนเรารู้สึกว่าเราหันมาทำดนตรีเพื่อศิลปะดีกว่า
แล้ว ‘มีอนาคต’ ในฉบับของหลุยเป็นยังไง?
สำหรับผมมีอนาคตหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถเราเอาศิลปะชิ้นนี้ที่เราทำอยู่ไปต่อยอด ไปสร้างสิ่งใหม่ๆได้มากขนาดไหน ความตั้งใจของผมคือเราอยากทำลายกรอบของดนตรี คือไม่ใช่แค่เอาดนตรีไปเล่นในคอนเสิร์ต แต่เราสร้างสิ่งใหม่ๆที่ทำแล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่เราอาจจะดูแค่ครั้งเดียว แต่ทำให้ความคิดเปลี่ยนไปและเป็นที่น่าจดจำตลอดไปเลย
คนจะจำได้ว่าคนนี้แต่งเพลงบ้าๆบอๆอย่างนี้ แล้วมันมีผลกระทบต่อสังคมในทางที่แบบฉุกคิด ตั้งคำถาม สร้างอารยธรรม ต่อยอดวัฒนธรรมให้มันไกลขึ้นไปอีก ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของเงินอะไรขนาดนั้น เงินมันมาทีหลัง มันเป็นแค่ตัวแปรที่ทำให้เรามีความสะดวกสบายในชีวิตมากกว่า
แต่เป็นนักดนตรีไม่มั่นคง ในยุคโควิดอยู่ไม่รอด?
ไม่ว่าจะอาชีพอะไรก็ไม่มั่นคงเหมือนกันหมด ไม่ใช่แค่อาชีพนี้ อย่างโควิดมันส่งผลถึงหลายๆอาชีพ ผมมองว่าถ้าอยากจะอยู่รอด เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการใหม่ๆด้วย เช่นหา platform ใหม่อย่างจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ หรือพยายามหันมาใช้อิเล็กโทรนิกให้มากขึ้น สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนวิธีการทำงานของเรา แต่อย่าให้สถานการณ์มาเปลี่ยนดนตรีที่เราชอบ อย่าไปทำให้อุดมการณ์ตัวเองเสีย อันนั้นสำคัญที่สุดสำหรับผม
เราปรับเปลี่ยนตัวเองยังไง?
สำหรับตัวผมเอง ปกติเรามีคอนเสิร์ต 4-5 คอนเสิร์ตต่อเดือน แต่พอโควิดตั้งแต่มีนา นับรวมกันก็หายไปกว่า 30 คอนเสิร์ต ถ้าเอาเรื่องธุรกิจเลยนะ บางที่เขาก็ยังไม่จ่าย ผมก็เข้าใจว่าเขาก็วุ่นวายเดือดร้อน บางที่เขาก็จ่ายก่อน เขาก็ให้เราทำไปก่อน แล้วเดี๋ยวเลื่อนคอนเสิร์ตไปปีหน้า บางงานก็ยกเลิกไปเลย
พอมันหยุด ผมไม่มีอะไรทำ ผมก็ต้องมานั่งคิดว่า ที่ผ่านมาผมทำอะไรบ้าง แล้วต่อไปผมจะทำอะไร แล้วช่วงที่คิดๆอยู่ตั้งแต่มีนา เมษา มันก็มีไอเดียงานใหม่ออกมา จนล่าสุดเดือนที่แล้ว ผมก็มีนิทรรศการที่หอศิลป์ที่ผมตั้งชื่อว่า “Burning Symphony” งานนี้เราไม่ได้แค่ทำคอนเสิร์ตซิมโฟนีให้คนมานั่งฟังอย่างเดียวแล้ว แต่เราเสนอวิธีการเล่นดนตรีแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
ปกติเขาเล่นดนตรีกันด้วยการเป่าหรือการสี แต่ผมเอาเครื่องดนตรีมาเผาไฟ ผมติดไมโครโฟนกันไฟไว้อัดเสียงตอนเผา เราก็จะได้ยินเสียงเหล็กสั่นตอนเผา หรือเสียงป่ารอบๆ เสียงสิ่งแวดล้อมรอบๆในพื้นที่นั้น เราก็เอามาถ่ายเป็นภาพยนตร์ประมาณ 25 นาที แล้วก็เอามาฉายในหอศิลป์ โดยเอาพวกอุปกรณ์ที่เราใช้มาจัดแสดงด้วย เราพยายามทำลายกรอบเดิมๆที่เคยมี สำหรับงานผม คุณไม่จำเป็นจะต้องนั่งเงียบๆในคอนเสิร์ตแล้ว คุณจะเอา McDonalds เข้ามากิน แล้วก็ดูงานของผมไปก็ได้ ผมพยายามทำให้สังคมมันเปิดขึ้น ไม่ใช่แค่ว่าเราต้องทำตามวิถีเดิมอย่างเดียว
แล้วจริงๆงานที่แตกต่างออกไปพวกนี้มันทำให้ผมมีงานต่อมาเรื่อยๆนะ มีงานหนึ่งที่ผมโพสต์ลง Facebook เล่นๆ แล้ว 1 ปีถัดมา สำนักข่าว CNN ก็เมลมาขอสัมภาษณ์ ผมก็ไม่ได้คิดอะไรไปมากกว่าทำงานศิลปะเพื่อศิลปะ
สรุปแล้วงานที่มั่นคง มีเกียรติ มีอนาคต ก็ขึ้นอยู่กับว่าตัวเองต้องการอะไร?
ครับ เป้าหมายต้องชัดเจน อุดมการณ์ต้องชัดเจนว่าเราอยากทำอะไรกันแน่ ุแล้วผมว่าคุณภาพและความน่าสนใจของงานจะทำให้คนสนใจเอง ถ้าเราชัดเจนพอ เราจะอยู่ที่ไหน ถึงมันอาจจะไม่ได้หรูหรา แต่เราก็จะมีความสุข เราพอใจกับงาน แล้วเราก็จะได้ทำอะไรที่เราสนใจจริงๆ
Comments