top of page

ความสุขของตัวเรานั้นเกิดขึ้นจากอะไร?​

  • Writer: Wankwan Polachan
    Wankwan Polachan
  • Aug 20, 2020
  • 1 min read

ความสุขของเราคือ การที่เราได้พักโรงแรมดีๆ กินอาหารราคาแพง และมีบ้านหลังใหญ่ หรือ ความสุขของเราคือการที่เรามีคนที่เราได้ใช้ชิวิตอย่างมีความหมาย และ มีเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้าง?




ถ้าเป็นอย่างแรก เงินก็คงซื้อความสุขของเราได้ แต่ถ้าความสุขของเราคือการที่ได้ใช้เวลากันคนสำคัญของเรา เงินก็คงช่วยให้เรามีความสุขไม่ได้

แต่ก่อนที่เราจะปักใจเชื่อว่าเงินซื้อความสุขได้ หรือไม่ได้นั้น เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าความสุขนั้นจริงๆแล้วเกิดขึ้นได้ยังไง

🧪ความสุขฉบับวิทยาศาสตร์

ความสุขทางวิทยาศาสตร์นั้น ก็คือปฏิกิริยาทางเคมี และฮอร์โมนในร่างกาย เช่น การหลั่งของสารโดปามีน เซโรโทนิน ออกซิโทซิน และ เอ็นโดรฟิน สารเหล่านี้นั้นเหมือนเป็นสารเสพติดธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนทำให้เราหวนกลับไปทำสิ่งที่กระตุ้นให้สารเหล่านี้หลั่ง เช่น การกินของหวาน การออกกำลังกาย การเสพยาเสพติดบางตัว การมีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ

นักวิจัยนั้นค้นพบว่า สัตว์ทุกชนิด รวมถึงมนุษย์นั้นเกิดมาพร้อมความต้องการที่จะรู้สึกดี ในสมองของเรานั้น มีเซลล์ประสาทที่ตอบสนองต่อความสุข ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า GABAergic VP neurons  และเซลล์ประสาทที่ตอบสนองกับความทุกข์ ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Glutabatergic VP neurons ซึ่งเซลล์ประสาทเหล่านี้เอง ที่อาจกระตุ้นให้เราต้องการที่จะหาความสุขทางสัมผัส และหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจก่อความรู้สึกไม่ดีให้แก่เราได้ โดยงานวิจัยล่าสุดโดยศูนย์วิจัย CSHL ในปี 2019 เกี่ยวกับ เซลล์ประสาททั้งสองชนิดในสมอง ได้กล่าวว่า สมองเรานั้นจะลิงค์ การกระทำ กับ เซลล์ประสาทที่ตอบสนองต่อความสุข/ทุกข์ เข้าด้วยกัน ทำให้ โดยสัญชาตญาณ สมองจะสั่งการให้เราทำสิ่งที่ถูกลิงก์กับเซลล์ประสาทที่ตอบสนองต่อความสุข และหลีกเลี่ยงการกระทำที่มีส่วนกระตุ้นเซลล์ประสาทที่ตอบสนองต่อความทุกข์นั่นเอง

ทีนี้เราก็คงเข้าใจแล้วว่า ความสุขในเชิงวิทยาศาสตร์นั้นคืออะไร ทำไมทุกคนถึงพยายามเสาะหาสิ่งที่เรียกว่าความสุข แต่ความสุขในการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเรานั้นคืออะไร?

🎓 ทฤษฎีทางจิตวิทยาของความสุข จากนักปรัชญา 🎓

เมื่อนักปรัชญาทพูดถึงความ โดยส่วนใหญ่ พวกขาจะให้ความหมายความสุขว่าเป็น 1) สภาพจิตใจ  (Hedonism) หรือ 2) การใช้ชีวิต (Eudaemonism)

💰ความสุข เกิดจากสัมผัสทางกาย Hedonism

เรามาพูดถึง ความสุขในความหมายแรก สำหรับนักปรัชญา “สภาพจิตใจ” กันก่อนดีกว่า นักปรัชญาเหล่านี้ เชื่อว่า หนทางแห่งความสุขนั้นคือ การที่เราพยายามเสาะหา และทำสิ่งต่างๆ เพื่อทำให้เรารู้สึกดี โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้เรารู้สึกลบ ให้ได้มากที่สุด

อาริสติปปุส  (Aristippus) นักปรัชญาผู้ริเริ่ม ปรัชญา Hedonism เชื่อว่าความสุขนั้นเกิดจาก สัมผัสทางกาย ความสุขคือการที่ได้ทานอาหารอร่อย ดื่มเหล้าชั้นดี ความสุขทางเพศ ฯลฯ ซึ่งก็เชื่อมโยงกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพราะความสุขที่เราได้จากสัมผัสทางกายเหล่านี้ เป็นตัวกระตุ้นสารเคมีแห่งความสุขในสมองเราให้หลั่ง

✨ความสุข เกิดจากการใช้ชีวิต Eudaemonism

อีกด้านของคำว่าความสุข ที่ถูกพูดถึงโดยนักปรัชญาอย่าง อริสโตเติล (Aristotle)  นั้นมองว่า ความสุข คือการที่เราใช้ชีวิต อย่างมีความหมาย และมีจุดมุ่งหมาย โดยระหว่างทางนั้น เราอาจต้องผ่านสิ่งที่เป็นอุปสรรค ซึ่งอาจก่อให้เกิดความทุกข์ได้ ถึงแม้อาจจะดูใหญ่ และไม่เป็นรูปธรรม ปรัชญาด้าน Eudaemonism นั้นก็มีส่วนเชื่อมโยงกับทฤษฎีทางจิตวิทยา เหมือนกับ Hedonism เช่นเดียวกัน

ในทฤษฎีทางจิตวิทยาของมาสโลว์ เกี่ยวกับลำดับความต้องการของมนุษย์ “ความปรารถนาที่จะสามารถเติมเต็มตนเองจากภายในได้อย่างสมบูรณ์ (self-actualization)” นั้นเป็นความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์ หรือแปลอีกนัยนึง มันก็คือเป้าหมายของชีวิตนั่นเอง ซึ่งก็ตรงกับปรัชญาของความสุขของอริสโตเติล

แต่อย่างไรก็ตาม หากเรากลับมามอง ทฤษฎีลำดับความต้องการของมนุษย์ของมาสโสว์อีกครั้ง เราจะได้เห็นได้ว่า การที่เราจะเติมเต็มความต้องการลำดับสุดท้าย หรือ self-actualization ได้นั้น ความต้องการขั้นพื้นฐานอื่นๆนั้นจำเป็นต้องถูกเติมเต็มก่อน

💵 ชีวิตที่มีความสุข เริ่มต้นได้จากการที่มีเงินที่เพียงพอ 💵

ลำดับความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตามทฤษฎีของมาสโลว์นั้นมีอยู่ 5 ลำดับด้วยกัน โดยมาสโลว์เชื่อว่าการที่เราจะสัมผัสความสุขในลำดับต่อไปได้ ความต้องการในลำดับก่อนหน้านั้นจำเป็นที่จะต้องถูกเต็มเต็มก่อน


#ลำดับความต้องการขั้นพื้นฐาน :​

  1. Physiological Needs หรือความต้องการขั้นพื้นฐาน ซึ่งก็คือ ปัจจัย 4 นั่นเอง เราจำเป็นต้องมี อาหารพอกิน น้ำพอดื่ม เสื้อผ้าให้สวมใส่ และที่อยู่อาศัย

  2. Safety needs หรือความต้องการด้านความปลอดภัย เช่น สุขภาพที่ดี ที่อยู่ที่ปลอดภัย ความสะดวกสบาย

  3. ​Love and belonging หรือความต้องการด้านความรักและการยอมรับ เช่น เพื่อน ครอบครัว ความรัก

  4. Esteem หรือ ความต้องการการมีคุณค่า ซึ่งจะถูกเติมเต็มเมื่อเรารู้สึก โดนจดจำ มีคุณค่าต่อผู้อื่น โดนเคารพ และมีอิสระ

  5. Self-actualization หรือความปรารถนาที่จะสามารถเติมเต็มตนเองจากภายในได้อย่างสมบูรณ์ ที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง


เราจะเห็นได้ว่า ความต้องการขั้นพื้นฐาน ลำดับที่ 1 และ 2 นั้นเป็นความสุขทางกายสัมผัส (ตามปรัชญา Hedonism) ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ #เราสามารถซื้อได้ด้วยเงิน ทั้งนั้น

ในงานวิจัยโดย Princeton University ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่องโยงของ เงิน และความสุข แต่ผลกระทบของเงินต่อความสุขนั้น ก็เกิดขึ้นถึงเพียงจุดๆหนึ่งเท่านั้น งานวิจัยได้กล่าวว่า เมื่อรายได้ต่อปีของแต่ละบุคคลนั้นอยู่ประมาณ 75,000 ดอลล่า เงินนั้นกลับมีผลต่อความสุขน้อยลง ทำให้คนที่มีรายได้ 100,000 ดอลลาร์ต่อปี ก็ไม่ได้มีความสุขมากกว่า คนที่มีรายได้ประมาณ 75,000 ดอลลาร์ต่อปี มากนัก


ซึ่งหากเราย้อนกลับไปดูทฤษฎีความต้องการพื้นฐานของมาสโลว์นั้น เราก็จะเห็นได้ว่างานวิจัยข้างต้น และทฤษฎีของมาสโลว์นั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก เงินจำนวน 75,000 ดอลลาร์ ต่อปีนั้น อาจเป็นจำนวณที่บุคคลหนึ่งคนต้องการ เพื่อที่จะเติมเต็มความต้องการ 2 ลำดับแรก แต่เมื่อความต้องการ 2 ลำดับแรก นั้นถูกเติมเต็มแล้ว สิ่งที่เราต้องการลำดับต่อๆไปนั้นก็คือสิ่งที่เราไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน อย่างความรัก เพื่อน ความมั่นใจ และจุดมุ่งหมายของชีวิตนั่นเอง

สุดท้ายแล้ว #เงินซื้อความสุขได้ หรือเปล่านะ? ก็ต้องซื้อได้สิ! แต่เงินอย่างเดียวก็คงไม่สามารถทำให้เรามีความสุขอย่างรอบด้านที่แท้จริงได้ เพราะความสุขนั้นเป็นการรวมกันของ สิ่งที่สามารถซื้อได้ และสิ่งที่ไม่สามารถซื้อได้

การที่เราโฟกัสกับด้านใดด้านนึงเกินไป ก็อาจทำให้ในบางครั้งเรารู้สึกว่าเรายังไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นการหา balance ที่ตรงกับเรามากที่สุดนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อในที่สุดแล้ว เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่แท้จริง

ใครที่อ่านมาจนจบ ก็อย่าลืมหาคำตอบให้ตัวเองนะคะว่า ความสุขของเราความจริงแล้วคืออะไรกันแน่ ส่วนชลเลขอตัวไปซื้อความสุขให้ตัวเองด้วยอาหารร้านป้าหน้าปากซอยก่อนนะคะ 💕

อ้างอิง

 
 
 

Comments


Drop Me a Line, Let Me Know What You Think

Thanks for submitting!

© 2020 by Chonle Official

bottom of page